วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

กฎหมายอาคารที่ควรรู้ เมื่อจะก่อสร้างหรือดัดแปลงบ้านตอนที่1-2

ตอนที่ 1 : ก่อสร้างหรือดัดแปลงบ้านต้องขอยื่นอนุญาต
  ปัจจุบันการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร พื้นที่เกือบทั้งหมดจะอยู่ในบังคับของกฎหมายควบคุมอาคาร โดยถูกกำหนดให้พื้นที่นั้นเป็น เขตควบคุมอาคารนอกจากนั้นการก่อสร้างดัดแปลงอาคารบางประเภทแม้จะทำนอกเขตดังกล่าว แต่ก็ต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายควบคุมอาคารด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อควบคุมการก่อสร้างดัดแปลงอาคารเหล่านั้นให้มีความแข็งแรงปลอดภัย สำหรับเจ้าของอาคาร ผู้ใช้อาคาร และมีการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งมีหลายเรื่องหลายข้อและเกี่ยวข้องกับอาคารหลายๆ ประเภท แต่หากจะดูเฉพาะเรื่องบ้านพักอาศัย มีข้อกฎหมายสำคัญที่เจ้าของบ้านควรต้องรู้และปฏิบัติตาม ดังนี้
ก่อสร้างหรือดัดแปลงบ้านต้องขอยื่นอนุญาต

   เอกสารที่ต้องยื่นไปพร้อมคำขออนุญาต ได้แก่ เอกสารของเจ้าของที่ดิน ผู้ยื่นขออนุญาต ผู้ออกแบบ (สถาปนิกวิศวกร) รวมถึงเอกสารมอบอำนาจต่างๆ เอกสารสำคัญที่จะต้องมีแนบไปด้วยก็คือ เอกสารที่เราเรียกกันทั่วไปว่า แบบขออนุญาตคือแบบที่ผู้ออกแบบจัดทำขึ้นและแสดงรายละเอียดที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ผังบริเวณ (ผังแสดงตำแหน่งบ้านในที่ดิน ระยะห่างของบ้านถึงแนวเขตที่ดิน แสดงทางระบายน้ำทิศทางการไหลของน้ำ แสดงระดับ) แบบแปลนบ้าน รูปด้านรูปตัด รายการวัสดุที่ใช้ หรือ รายการคำนวณโครงสร้าง (บ้านทั่วไปที่สร้างด้วยวัสดุทนไฟ วัสดุถาวร ต้องมีรายการคำนวณโครงสร้าง) แบบที่สำคัญที่ต้องแสดงอีก คือ ต้องมีแบบและวิธีการเกี่ยวกับการติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัย แบบและจำนวนห้องน้ำห้องส้วม การจัดแสงสว่างและการระบายอากาศ แบบและรายการคำนวณระบบบำบัดน้ำเสียของบ้านที่ต้องได้มาตรฐาน ฯลฯ
ตอนที่ 2 : ซ่อมแซมบ้านถ้าไม่เข้าข่ายดัดแปลง ทำได้ทันทีไม่ต้องยื่นขออนุญาต
 ท่านเจ้าของบ้านลองนึกดูว่า หากเราแค่ต้องการทาสีบ้าน เปลี่ยนประตูใหม่แทนประตูที่ผุหรือเสียหาย ซ่อมเปลี่ยนท่อน้ำประปาที่แตกหรือรั่ว ปูพื้นห้องน้ำใหม่โดยมีการรื้อแผ่นกระเบื้องเดิมออก ฯลฯ แล้วต้องไปยื่นขออนุญาตและต้องรอให้ได้รับใบอนุญาตก่อนจึงสามารถลงมือทำได้ ก็น่าจะเกิดความยุ่งยากต่อทั้งเจ้าของบ้านและหน่วยงานที่ดูแล กฎหมายควบคุมอาคารจึงผ่อนผันให้การกระทำบางอย่างกับอาคาร สามารถลงมือทำได้โดยไม่จำเป็นต้องยื่นขออนุญาตแต่อย่างใด ถ้าสิ่งที่จะทำนั้นไม่ถือเป็นการ ดัดแปลงอาคารตามที่กฎหมายกำหนดไว้
 การกระทำที่ไม่ถือเป็นการ ดัดแปลงอาคารมีกำหนดอยู่ในกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อให้เข้าใจ ขอเขียนอธิบายเป็นความต้องการที่เจ้าของบ้านสามารถทำได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต ดังนี้
    1. หากต้องการเปลี่ยนโครงสร้างอาคาร (เช่น  เสา, คาน, ตง และพื้น) ที่ไม่ได้ทำด้วย คอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ และใช้วัสดุชนิดเดิม ขนาดเท่าเดิม จำนวนเท่าเดิม สามารถทำได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต เช่น การเปลี่ยนคานไม้ที่ผุ หรือ แอ่น โดยยังใช้เป็นคานไม้เช่นเดิม
  2. หากต้องการเปลี่ยนส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างอาคาร (เช่น เปลี่ยนผนัง ฝา ฝ้าเพดาน ประตู หน้าต่าง ฯลฯ) โดยใช้วัสดุของเดิม และสิ่งที่เปลี่ยนนั้นไม่หนักเพิ่มขึ้นมากกว่าของเดิมร้อยละสิบ สามารถทำได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต เช่น ผนังเดิมที่จะเปลี่ยนออกไปหนัก 100 กิโลกรัม ผนังใหม่ที่มาแทนและวัสดุเหมือนเดิม ต้องหนักไม่เกิน 110 กิโลกรัม
   3. หากต้องการปรับเปลี่ยน ต่อเติม รูปทรง ขอบเขต สัดส่วน ของส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างอาคาร แล้วไม่ได้ทำให้น้ำหนักตรงจุดนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าของเดิมร้อยละสิบ สามารถทำได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต เช่น การติดป้ายเล็กๆ ยื่นออกมาจากผนังอาคาร
  4. หากต้องการลดพื้นที่บ้าน หรือเพิ่มพื้นที่บ้าน (เช่น ต่อเติมระเบียงยื่นออกไป) รวมกันแล้วไม่เกิน 5 ตารางเมตร และตรงพื้นที่ที่ลดหรือเพิ่มนั้นไม่ได้ทำให้ต้องเพิ่มเสาหรือคาน สามารถทำได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต
  5. หากต้องการลดหรือเพิ่มพื้นที่หลังคาบ้าน รวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่มีการเพิ่มเสาหรือคาน สามารถทำได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต (เช่น ตัดหลังคาเว้าออกเล็กน้อยเพื่อหลบกิ่งของต้นไม้ที่โตจนยื่นมาชน)
 ทั้ง 5 ข้อนี้ กฎหมายได้ระบุเงื่อนไขไว้ว่า สิ่งที่ทำไปนั้นต้องไม่ผิดกฎหมายควบคุมอาคารในเรื่องอื่นๆ เช่น ต้องไม่เกินระยะร่นอาคารที่กฎหมายกำหนด ต้องไม่ทำให้ที่ว่างน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ต้องไม่มีเปิดช่องเปิดที่ผนังถ้าผนังนั้นห่างน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ฯลฯ  สังเกตหรือไม่ว่า กฎหมายจะเน้นไปในเรื่องความแข็งแรง ปลอดภัย การรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเป็นการระบุให้ใช้วัสดุของเดิม และต้องไม่เพิ่มน้ำหนักมากเกินร้อยละสิบ ไม่มีการลดหรือเพิ่ม เสา คานของอาคาร และต้องไม่เปลี่ยนโครงสร้างอาคารที่ทำด้วยคอนกรีต เหล็กรูปพรรณการที่เขียนว่า สามารถทำได้ไม่ต้องยื่นขออนุญาต ไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องนั้นจะลงมือทำได้ทันทีโดยไม่มีการตรวจสอบใดๆ ก่อน จึงขอแนะนำว่า เพื่อความปลอดภัยก็ควรปรึกษาผู้รู้ก่อนลงมือทำ โดยเฉพาะถ้าดูแล้วสิ่งที่จะทำนั้นเกี่ยวข้องกับโครงสร้าง หรือดูแล้วไม่แน่ใจเกรงว่าอาจจะมีอันตราย ให้ถือหลักปลอดภัยไว้ก่อนเป็นดีที่สุด
 (หมายเหตุ : ในกฎกระทรวงฉบับที่ 11 พ.ศ. 2528 ยังได้กำหนดว่าการกระทำที่ถือว่าเป็นการ รื้อถอนซึ่งต้องยื่นขออนุญาตก่อนลงมือทำไว้ด้วย หากท่านใดต้องการทราบก็สามารถดูรายละเอียดได้ในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว)
                                                       
                                                                      คมกฤช ชูเกียรติมั่น
                            ผู้อำนวยการสถาบันสถาปนิกสยาม สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น