วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562

ข่าวความเคลื่อนไหวในแวดวงหมู่บ้าน

        คณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านฮาบิเทียบางใหญ่ กำลังพิจารณาซ่อมแซมดังนี้

        1. ป้อมยามหน้าหมู่บ้านซึ่งตอนนี้อยู่ในสภาพหลังคาป้อมรั่ว ปัญหาห้องน้ำตัน และปรับปรุงโครงหลังคาเหล็กให้ครอบคลุมพื้นที่ช่วงไม้กั้น ให้สามารถบังแดด บังฝนได้มากกว่าเดิม
        2. สระน้ำรั่ว ซึ่งตอนนี้ไม่สามารถเปิดระบบน้ำตกและน้ำล้นได้ จากการทดสอบของบริษัทที่ดูแลสระน้ำแจ้งว่าน่าจะมีรอยรั่วที่ใดที่หนึ่ง  อาจจะต้องปิดซ่อมแซมเร็วๆนี้
        3. ดำเนินการตัดตบแต่งกิ่งไม้ในบริเวณถนนเมนทั้งหมด   เนื่องจากกีดขวางการจารจรและบางต้น
อยู่ใกล้ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าหลักเช่นหม้อแปลงไฟฟ้าและสายไฟ จำเป็นต้องตัดออกเพื่อไม่ให้
กิ่งไม้ไปกระทบสายไฟและหม้อแปลง  ช่วงนี้เป็นฤดูร้อนอาจมีลมพัดและพายุฤดูร้อนทำให้ไฟฟ้าดับและสร้างความเสียหายแก่หม้อแปลงไฟฟ้าและสายไฟได้
                           
                                       จึงแจ้งให้สมาชิกในหมู่บ้านฮาบิเทียบางใหญ่ทราบโดยทั่วกัน

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ว่าด้วยเรื่องกรรมการนิติบุคคล

ถาม-ตอบ

ถาม 1.สมาชิกในหมู่บ้านมองคนที่เป็นกรรมการอย่างไร?

ตอบ  เกือบ 80 % มองเหมือนกับเป็นพวกนักการเมือง อยากดัง หรือเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์
         อีก 20 %  ชื่นชมที่เสียสละ เข้าไปช่วยกันบริหารหมู่บ้านให้เป็นระเบียบ เรียบร้อย สะอาดปลอดภัย
         เพราะเงินเดือน,เบี้ยประชุม ก็ไม่มี
ข้อเท็จจริง ของกรรมการหมู่บ้านฮาบิเทียบางใหญ่  หากดูกรรมการแต่ละคนมีอาชีพหน้าที่การงานที่มั่นคง  โดยเฉพาะ ประธานฯเป็นนายทหารที่ทุ่มเทช่วยกันบริหารหมู่บ้าน โดยยึดหลักซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ยังประหยัดเพื่อให้คงค่าส่วนกลางในอัตราที่คงที่ให้มากที่สุดแม้ว่าค่าใช้จ่ายในอนาคต
จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าจ้างแรงงาน เงินเฟ้อ การบำรุงรักษาสภาพแวดล้อมที่แพงขึ้น
ถาม 2. มาเป็นกรรมการทำไม แล้วได้อะไร ?
ตอบ  อย่าลืมว่ากรรมการก็คือสมาชิกคนหนึ่งของหมู่บ้านเหมือนกัน  การที่อาสาเข้ามาเป็นกรรมการ
         ก็เพื่อหมู่บ้านของตนเอง   กรรมการแต่ละคนก็ต้องตรวจสอบการใช้จ่ายเงินค่าส่วนกลาง
และบริหารให้มีประสิทธิภาพ ให้มากที่สุด
ถาม 3.กรณีที่มีข้อสงสัย หรือข้อร้องเรียน    กรรมการ ทำอย่างไร?
ตอบ  ทุกเรื่อง คณะกรรมการนำเข้ามาประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขให้ หากสามารถแก้ไขให้ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องอาศัยหน่วยงานภายนอกแล้ว   คณะกรรมการจะให้ผู้จัดการนิติฯดำเนินการแก้ไขทันที




                 

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

ระบบอัตโนมัติในหมู่บ้าน

คณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฮาบิเทียบางใหญ่
จะนำระบบอัตโนมัติมาใช้งานในทุกๆระบบ ในหลักการและเหตุผลดังนี้
- เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวม
- เพื่อเตรียมรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากรายรับของนิติบุคคลฯในอนาคต
- เพื่อเตรียมการเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่รัฐบาลจัดเก็บซึ่งส่งผลต่อสมาชิกทุกหลัง
- เพื่อวางแผนระยะยาวเมื่อมีการเลิกนิติบุคคลฯ(ถ้ามี)

1.ระบบผ่านเข้าออกในหมู่บ้านฮาบิเทียบางใหญ่
ใช่ระบบการอ่านบัตรระยะไกล
โดยใช้รีโมทติดตั้งในรถของสมาชิกทุกคันโดย
ให้กับสมาชิกหมู่บ้านหลังละ 2 ตัวมีระบบบันทึกข้อมูลการเข้าออกของสมาชิก
และสามารถ หยุดการให้บริการโดยล็อคไม่ให้ผ่านได้ง่ายเมื่อไม่ชำระค่าส่วนกลางตามกำหนด
ข้อดี 1.ลดภาระของ รป.ลงได้ส่วนหนึ่ง สามารถลดจำนวนรป.
        2. ลดค่าใช้จ่ายด้าน รป. ลง
        3.ควบคุมการเข้า-ออกของผู้ที่ไม่ชำระค่าส่วนกลางได้ระดับหนึ่ง
         
         

2.ระบบตั้งเวลาปั้มน้ำสระน้ำที่สโมรสร
ตั้งเวลาปั้มน้ำ
เนื่องจากสระน้ำมีระบบน้ำตกซึ่งตั้งเวลาให้ทำงานเฉพาะช่วงเวลาที่มีสมาชิกมาใช้เป็นช่วงๆเพื่อประหยัดค่ากระแสไฟฟ้า









3.ระบบตั้งเวลา แสงสว่างสนามหญ้า  18.30 - 21.00 น. เพื่อให้สมาชิกออกกำลังกายที่เครื่องออกกำลัง
กาย
ตั้งเวลาไฟสนามหญ้า
ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าส่องสว่าง
โคมเมทัลฮาไลด์ 250 watt
ที่มีการใช้กระแสไฟฟ้ามากจึงเปฺิดเป็นช่วงเวลา เมื่อไม่มีสมาชิกมาใช้สนามในการออกกำลังกายและพักผ่อน


4. ระบบตั้งเวลาหรือระบบเปิด-ปิดตามแสงสว่าง(Photo cell)
โคมไฟถนน 91 ดวง และจะทยอยเปลี่ยนหลอดแสงจันทร์ ซึ่งหลอดไหนขาดจะดำเนินการเปลี่ยนเป็นหลอดประหยัดไฟฟ้าหรือหลอด  LED ในลำดับต่อไป
โตมไฟแสงจันทร์เดิม










วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ผนังทึบ ช่องเปิด ระเบียง ต้องมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดิน

ผนังทึบ ช่องเปิด ระเบียง ต้องมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดิน :
กฎหมายอาคารควรรู้เมื่อจะก่อสร้างหรือดัดแปลงบ้าน ตอนที่ 6
เจ้าของบ้านหลายท่านอาจเคยสงสัยว่า ผนังที่มีประตู-หน้าต่าง หรืออิฐบล็อกแก้ว หรือระเบียงบ้านของเราด้านที่ติดกับแนวเขตที่ดินผู้อื่น จะต้องห่างจากแนวเขตที่ดินเท่าใด และยิ่งสงสัยมากขึ้น เมื่อเห็นข้างบ้านที่กำลังก่อสร้างผนังมีประตูหน้าต่าง หรือทำเป็นระเบียงอยู่ใกล้เขตที่ดินบ้านเรา บางครั้งก็มีผนังชิดเขตที่ดินของเราเลย แล้วปัจจุบันมีกฎหมายกำหนดให้ขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงบ้าน จะต้องถอยร่นช่องเปิด (ขอเรียก ประตู หน้าต่าง ช่องแสง ช่องระบายอากาศ รวมๆ ว่า ช่องเปิด) ให้ห่างจากแนวเขตที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างกี่เมตร หากทำเป็นผนังทึบโดยไม่มีช่องเปิด จะก่อสร้างให้ชิดเขตที่ดินเลยได้หรือไม่ หรือต้องมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดินเท่าใด
   กฎหมายควบคุมอาคาร นอกจากกำหนดให้อาคารมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดินด้านที่ติดหรือประชิดกับถนนหรือแหล่งน้ำสาธารณะแล้ว ยังได้กำหนดให้ผนังอาคาร ช่องเปิดหรือระเบียง ต้องมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดินด้านอื่นๆ ด้วย ระยะห่างจากแนวเขตที่ดินนี้ ใช้บังคับกับทุกอาคารที่จะก่อสร้างหรือดัดแปลง ระยะห่างจากแนวเขตที่ดินจะห่างมากหรือน้อยเพียงใด ถูกกำหนดให้ขึ้นอยู่กับความสูงของบ้านหรืออาคารที่จะก่อสร้างหรือดัดแปลง และขึ้นอยู่กับว่าผนังด้านนั้นเป็นผนังทึบ หรือมีช่องเปิดที่ผนัง หรือมีการทำเป็นระเบียงออกมาใช้งาน หรือไม่
    ก่อนจะถึงรายละเอียดของข้อกำหนด เบื้องต้นท่านเจ้าของบ้านพึงทราบไว้ว่า อิฐบล็อกแก้วตามกฎหมายควบคุมอาคาร ถือเป็น ช่องแสงหรือ ช่องเปิดเพราะแม้นว่าอากาศจะผ่านไม่ได้แต่แสงส่องผ่านได้ จึงไม่ถือเป็นผนังทึบอย่างที่หลายคนเข้าใจ ดังนั้นอิฐบล็อกแก้วก็จะต้องมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดินเป็นไปตามข้อกำหนดเหมือนช่องเปิดหรือระเบียง
  ข้อกำหนดเรื่องระยะห่างจากแนวเขตที่ดิน มีกำหนดไว้ทั้งในกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ซึ่งบังคับใช้ทั้งประเทศ และกำหนดในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ซึ่งบังคับใช้กับอาคารก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารในเขตกรุงเทพมหานคร (เพิ่มเติมจากกฎกระทรวง) ดังนี้
   กฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 50 กำหนดไว้ว่า ผนังของอาคารที่มีหน้าต่าง ประตู ช่องระบายอากาศหรือช่องแสง หรือระเบียงของอาคารต้องมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดิน ดังนี้
 (1) อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร ผนังหรือระเบียงต้องอยู่ห่างเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร
 (2) อาคารที่มีความสูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ผนังหรือระเบียงต้องอยู่ห่างเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 3 เมตร



    ผนังของอาคารที่อยู่ห่างเขตที่ดินน้อยกว่าตามที่กำหนดไว้ใน (1) หรือ (2) ต้องอยู่ห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เว้นแต่จะก่อสร้างชิดเขตที่ดินและอาคารดังกล่าวจะก่อสร้างได้สูงไม่เกิน 15 เมตร ผนังของอาคารที่อยู่ชิดเขตที่ดิน หรือห่างจากเขตที่ดินน้อยกว่าที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ต้องก่อสร้างเป็นผนังทึบ และดาดฟ้าของอาคารด้านนั้นให้ทำผนังทึบสูง จากดาดฟ้าไม่น้อยกว่า 1.80 เมตร ในกรณีก่อสร้างชิดเขตที่ดินต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงด้านนั้นด้วย


ระยะห่างของผนังที่มีช่องเปิดหรือระเบียง สำหรับอาคารสูงไม่เกิน 9 เมตร ต้องห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตรจากแนวเขตที่ดิน





ระยะห่างของผนังที่มีช่องเปิดหรือระเบียง สำหรับอาคารสูงเกิน 9 เมตร ต้องห่างไม่น้อยกว่า 3 เมตรจากแนวเขตที่ดิน
  ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ข้อ 54 กำหนดไว้ว่า อาคารด้านชิดที่ดินเอกชน ช่องเปิด ประตู หน้าต่าง ช่องระบายอากาศ หรือริมระเบียงสำหรับชั้น 2 ลงมาหรือสูงไม่เกิน 9 เมตร ต้องอยู่ห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร และสำหรับชั้น 3 ขึ้นไปหรือสูงเกิน 9 เมตร ต้องห่างไม่น้อยกว่า 3 เมตร





ระยะห่างของช่องเปิดหรือระเบียงจากแนวเขตที่ดิน เฉพาะอาคารในเขตกรุงเทพฯ
   *** ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544  ข้อ 56 กำหนดไว้ว่า บ้านพักอาศัยที่มีพื้นที่ไม่เกิน 300 ตารางเมตร ให้ผนังด้านที่ไม่มีช่องเปิด (คือ ผนังทึบ) สามารถสร้างห่างเขตที่ดินได้น้อยกว่า 1 เมตร ถ้าห่างน้อยกว่า 50 เซนติเมตร ต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของที่ดินด้านนั้นด้วย

  แม้ทั้งกฎกระทรวงและข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครจะเขียนในเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าอ่านและดูรูปประกอบจะเห็นว่ามีข้อความต่างกัน และแนวทางปฏิบัติก็ต่างกัน ซึ่งท่านเจ้าของบ้านควรต้องทราบจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง โดยกรณีบ้านที่สร้างอยู่ในต่างจังหวัดให้ยึดตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) แต่หากเป็นบ้านที่สร้างในเขตกรุงเทพมหานคร จะต้องยึดตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 เป็นหลัก (และก็ต้องดูกฎกระทรวงฉบับที่ 55 ประกอบด้วย อย่างที่เขียนไว้ข้างต้นว่า กฎกระทรวงนั้นมีการบังคับใช้ทั้งประเทศ ในกรุงเทพฯ จึงต้องปฏิบัติตาม) ขอเขียนสรุปเป็นบ้านที่สร้างในต่างจังหวัดกับบ้านที่สร้างในเขตกรุงเทพฯ เรื่องระยะร่นของผนังทึบ ผนังที่มีช่องเปิด หรือระเบียง ดังนี้
 สำหรับบ้านที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงในต่างจังหวัด
   -  ผนังที่มีช่องเปิด ระยะห่างที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้นจะเป็นระยะห่างของ ผนังทั้งผนังกับแนวเขตที่ดิน  ไม่ใช่คิดเพียงเฉพาะช่องเปิด (แล้วเข้าใจว่าตรงไหนของผนังที่เป็นผนังทึบจะห่างน้อยกว่าที่กำหนดได้) และระยะห่าง 2 เมตรหรือ 3 เมตร จะเป็นไป  ตามความสูงของอาคารทั้งหลัง ไม่ใช่ความสูงของช่องเปิด

  -  ระเบียง แม้กฎกระทรวงไม่ได้กำหนดว่าคือตรงไหนของระเบียง แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าในทางปฏิบัติจะถือเอาริมนอกสุดของระเบียงเป็นแนววัดระยะห่างจากเขตที่ดิน

 -  ผนังทึบ จะต้องอยู่ห่างจากแนวเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ถ้าจะทำผนังทึบชิดเขตที่ดิน อาคารดังกล่าวจะต้องสูงไม่เกิน 15 เมตร และต้องให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงเซ็นเอกสารยินยอมให้สร้างชิดเขตที่ดินของเขาได้


 สำหรับบ้านที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงในเขตกรุงเทพฯ

    -  ผนังที่มีช่องเปิด ระยะห่างจากแนวเขตที่ดินที่กำหนดจะเป็นระยะห่างของ ช่องเปิดกับแนวเขตที่ดิน (หมายความว่า ในแนวปฏิบัติยอมให้ส่วนอื่นของผนังที่เป็นผนังทึบด้านนั้น สามารถมีระยะห่างน้อยกว่าที่กำหนดได้ ถ้าไม่ผิดเงื่อนไขเรื่องอื่น เช่น เรื่องที่ว่างโดยรอบอาคาร) และระยะห่าง 2 เมตรหรือ 3 เมตร จะเป็นไป ตามความสูงของช่องเปิด ไม่เหมือนกรณีที่กำหนดในกฎกระทรวง
  -  ระเบียง เขียนระบุไว้ชัดเจนว่าใช้แนวริมระเบียง เป็นแนววัดระยะห่างจากเขตที่ดิน
-   ผนังทึบ จะห่างจากแนวเขตที่ดินน้อยกว่า 1 เมตร ได้ เฉพาะบ้านพักอาศัยที่มีพื้นที่ไม่เกิน 300 ตารางเมตร และถ้าผนังทึบนั้นห่างน้อยกว่า 50 เซนติเมตร ต้องได้รับความยินยอมเป็นเอกสารจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงด้วย

                                                                                 คมกฤช ชูเกียรติมั่น
                                   ผู้อำนวยการสถาบันสถาปนิกสยาม สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์


ตอนที่ 4 : ก่อสร้างหรือดัดแปลงบ้าน ต้องมีระยะร่น

ตอนที่ 4 : ก่อสร้างหรือดัดแปลงบ้าน ต้องมีระยะร่น
นอกเหนือจากการต้องเว้นให้มีที่ว่างสำหรับอาคารทุกหลังที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงแล้ว กฎหมายควบคุมอาคารยังมีข้อกำหนดให้อาคารทุกประเภทต้อง ร่นแนวอาคารจากแนวเขตที่ระบุไว้ ไม่ว่าจะเป็นการต้องร่นแนวอาคารจากเขตถนนสาธารณะ หรือร่นจากเขตทางน้ำสาธารณะ บางข้อกำหนดให้ ผนังหรือระเบียงต้องห่างจากแนวเขตที่ดิน หรือต้องห่างจากผนังอาคารของผู้อื่นที่อยู่ข้างเคียง หรือต้องห่างจากผนังหรือระเบียงอาคารอื่นที่อยู่ในที่ดินเจ้าของเดียวกัน หลายคนเรียกข้อกำหนดนี้ว่า ระยะร่นและ ระยะห่างของอาคาร ก่อนดูในรายละเอียดของระยะร่น ท่านเจ้าของบ้านควรต้องทราบแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการร่นแนวอาคาร เพราะกฎหมายกำหนดให้ต้อง ร่นแนวอาคารแต่ไม่ได้เขียนให้ชัดว่า แนวอาคารที่ว่านั้นหมายถึงแนวไหนของตัวอาคาร หากไม่ใช่ข้อกำหนดที่ระบุชัดว่าเป็นผนังหรือระเบียง หลายคนเลยอาจคิดว่า แนวอาคารอาจหมายถึง แนวชายคา แนวกันสาด หรือแนวใดๆของอาคารยื่นออกไปมากที่สุด ปัจจุบันแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นโดยทั่วไปแล้ว จะพิจารณา แนวอาคารโดยถือเอาแนวผนังอาคาร หรือแนวเสาของอาคารที่อยู่ริมด้านนอกสุด แต่จะไม่รวมถึงกันสาด ชายคา หรือหลังคา (อ้างอิงจากหนังสือตอบข้อหารือของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ มท.0710/10880 และที่ มท.0710/13604) โดยระยะร่นทั้งหลายก็ให้วัดจากแนวเขตที่กฎหมายกำหนด เช่น กึ่งกลางถนนสาธารณะไปจนถึงผนังอาคารหรือเสาที่อยู่ริมนอกสุดของอาคารที่จะก่อสร้างหรือดัดแปลงนั่นเอง อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นเพียงแนวปฏิบัติ ดังนั้นในอนาคตก็อาจมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างออกไป
 ระยะร่นอาคารจากแนวเขตที่กฎหมายกำหนดที่สำคัญ คือ ระยะร่นจากถนนสาธารณะ เนื่องเพราะถนนเป็นที่สาธารณะ ซึ่งอาคารส่วนใหญ่มักจะก่อสร้างใกล้ถนน และต้องก่อสร้างไม่ให้ส่วนใดของอาคารล้ำเข้าไปในที่สาธารณะ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นกรณีไป
ระยะร่นจากถนนสาธารณะ
 กฎหมายกำหนดให้อาคารทุกประเภทที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงต้องมีระยะร่นจากถนนสาธารณะ โดยระยะที่ต้องร่นแนวอาคารขึ้นกับว่าถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้นั้นมีความกว้างเท่าใด และขึ้นกับว่าอาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงนั้นเป็นอาคารประเภทใด โดยกฎหมายเขียนเรื่องนี้อยู่ในข้อเดียวกัน แต่เขียนเป็นสองวรรค (แต่ละวรรคก็คือแต่ละย่อหน้านั่นเอง เพียงแต่กฎหมายในระดับรอง เช่นกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติ ใช้คำเรียกว่า วรรคในที่นี้จึงขอเขียนคำว่าวรรคนำหน้าเพื่อให้อ้างอิงได้)
 วรรคแรก ถนนสาธารณะที่มีความกว้างเขตทางน้อยกว่า 6 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 3 เมตร กรณีนี้ไม่ได้ระบุประเภทอาคารจึงบังคับใช้กับทุกอาคาร


 รูปแสดงระยะร่นของแนวอาคารจากถนนสาธารณะที่กว้างน้อยกว่า 6 เมตร



     วรรคสอง สำหรับอาคารที่สูงเกิน 2 ชั้นหรือเกิน 8 เมตร ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว อาคารพาณิชย์ โรงงาน อาคารสาธารณะ ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย หรือคลังสินค้า ที่ก่อสร้างสร้างใกล้ถนนสาธารณะที่มีความกว้างต่างๆ ให้มีระยะร่นดังนี้
   1. ถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 6 เมตร

 รูปแสดงระยะร่นของแนวอาคารจากถนนสาธารณะที่กว้างน้อยกว่า 10 เมตร ยกเว้นบ้านพักอาศัยสูงไม่เกิน 2 ชั้น หรือ 8 เมตร (สำหรับกรุงเทพมหานครยกเว้นบ้านพักอาศัยสูงไม่เกิด 3 ชั้น 10 เมตร และมีพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร)
 2. ถนนสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของความกว้างของเขตถนนนั้นๆ เช่น ถ้าถนนกว้าง 12 เมตร แนวอาคารต้องร่นห่างจากเขตถนนเท่ากับ 1.20 เมตร

รูปแสดงระยะร่นของแนวอาคารจากถนนสาธารณะที่กว้างตั้งแต่ 10 เมตร ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 เมตร
3. ถนนสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ 20 เมตรขึ้นไป ให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 2 เมตร

 รูปแสดงระยะร่นของแนวอาคารจากถนนสาธารณะที่กว้างมากกว่า 20 เมตร ขึ้นไป
 หลายคนอ่านแล้วอาจคิดต่อว่า ในวรรคสอง (1) กำหนดความกว้างของถนนสาธารณะว่ากว้างน้อยกว่า 10 เมตร แปลว่า ถ้าถนนกว้างเพียง 4 เมตร จะเข้าเกณฑ์ทั้งวรรคแรกและวรรคสอง (1) แล้วจะใช้ระยะร่นตามวรรคไหน เพราะวรรคแรกให้ร่นเพียง 3 เมตรแต่วรรคสอง (1) ให้ร่นถึง 6 เมตร แต่ให้สังเกตว่าในวรรคสองนั้นมีกำหนดประเภทของอาคารไว้ด้วย หมายความว่าอาคารตามที่ระบุเท่านั้นจึงใช้ตัวเลขระยะร่นตามวรรคสอง (1) นอกจากนั้นจึงให้ใช้ตัวเลขระยะร่นตามวรรคแรก ซึ่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็มีระบุไว้แตกต่างกัน
 ดังนั้น ถ้าสร้างบ้านใกล้ถนนสาธารณะที่กว้างน้อยกว่า 6 เมตร จะใช้ระยะร่นตามวรรคแรกก็ต่อเมื่อ บ้านนั้นสูงไม่เกิน 2 ชั้นหรือไม่เกิน 8 เมตร กรณีสร้างอยู่ต่างจังหวัด แต่หากเป็นบ้านที่สร้างในกรุงเทพฯ จะต้องเป็นบ้านที่สูงไม่เกิน 3 ชั้นหรือไม่เกิน 10 เมตร และพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร โดยบ้านที่สร้างนั้นต้องไม่ใช่ห้องแถว ตึกแถวหรือบ้านแถว นอกเหนือจากนี้ต้องใช้ตัวเลขระยะร่นตามวรรคสอง (1)
 ตัวอย่างเช่น ถ้าก่อสร้างบ้านพักอาศัยสูง 4 ชั้นใกล้กับถนนสาธารณะที่กว้างน้อยกว่า 6 เมตร จะต้องร่นแนวอาคารจากกึ่งกลางถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 6 เมตร
ประเด็นสำคัญที่ท่านเจ้าของบ้านต้องทราบไว้ คือ หากท่านหรือใครก็ตามเป็นเจ้าของที่ดินในต่างจังหวัด แล้วยินยอมให้คนทั่วไปใช้ที่ดินนั้นเป็นทางผ่าน โดยจะเก็บค่าผ่านทางหรือไม่ก็ตาม กฎหมายควบคุมอาคารจะถือว่าที่ดินนั้นเข้าข่ายเป็น ถนนสาธารณะทันที เมื่อเป็นถนนสาธารณะ อาคารที่สร้างใกล้กับที่ดินที่ยอมให้คนทั่วไปผ่านนั้น ก็ต้องก่อสร้างให้มีระยะร่นเช่นเดียวกับที่ต้องร่นจากถนนสาธารณะ สำหรับในเขตกรุงเทพฯ ที่ดินที่ยินยอมให้คนทั่วไปใช้เป็นทางผ่าน หากมีความยาวไม่เกิน 500 เมตรหรือมีการปักป้ายหวงห้ามกรรมสิทธิ์ไว้ จะถือว่าเป็น ทางส่วนบุคคลไม่ถือเป็นถนนสาธารณะ แต่หากไม่เข้าสองเงื่อนไขนี้จะเข้าข่ายเป็นถนนสาธารณะตามกฎหมายควบคุมอาคารและก็จะต้องมีระยะร่นเช่นกัน
  เรื่องระยะร่นหรือระยะห่างอาคารนั้นมีข้อกำหนดอยู่ค่อนข้างมาก จะค่อยๆ นำแต่ละกรณีมาเขียนให้ทราบต่อไป
หมายเหตุ : ท่านที่ต้องการอ้างอิงข้อกฎหมายในเรื่องระยะร่นจากถนนสาธารณะ หากเป็นที่ดินในต่างจังหวัดให้ดูกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 41 หากเป็นที่ดินในกรุงเทพฯ ให้ดูข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ข้อ 50

 คมกฤช ชูเกียรติมั่น

ผู้อำนวยการสถาบันสถาปนิกสยาม สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

การก่อสร้างหรือดัดแปลงบ้านตอนที่3 ต้องมีที่ว่าง

ตอนที่ 3 : การก่อสร้างหรือดัดแปลงบ้าน ต้องเว้นให้มี ที่ว่างตามกฎหมายกำหนด
  เรื่องสำคัญที่ท่านเจ้าของบ้านควรรู้เมื่อจะก่อสร้างหรือดัดแปลงบ้าน คือ กฎหมายควบคุมอาคารมีข้อกำหนดให้ที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารทุกประเภทต้องเว้นให้มี ที่ว่างหรือก็คือ การห้ามก่อสร้างอาคารจนเต็มที่ดินทั้งแปลงที่ขออนุญาตนั่นเอง คำว่า ที่ว่างท่านเจ้าของบ้านอาจนึกเอาเองว่า หมายถึงพื้นที่อย่างนั้น อย่างนี้ แต่ความหมายที่ท่านคิดนั้นอาจจะไม่ตรงกับ ที่ว่างตามที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดก็ได้ ดังนั้นสิ่งที่ท่านเจ้าของบ้านควรรู้ต่อมา ก็คือ ที่ว่างตามกฎหมายนั้นมีความหมายเช่นใด
  กฎหมายควบคุมอาคารกำหนด ที่ว่างหมายถึงพื้นที่อันปราศจากหลังคาหรือสิ่งก่อสร้างปกคลุม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอาจจะจัดให้เป็น บ่อน้ำ สระว่ายน้ำ บ่อพักน้ำเสีย ที่พักมูลฝอย ที่พักรวมมูลฝอย หรือที่จอดรถ ที่อยู่ภายนอกอาคารก็ได้ และให้หมายความรวมถึงพื้นที่ของสิ่งก่อสร้าง หรืออาคารที่สูงจากระดับพื้นดินไม่เกิน 1.20 เมตร และไม่มีหลังคาหรือสิ่งก่อสร้างปกคลุมเหนือระดับนั้น   ท่านจะเห็นได้ว่า แม้เว้นพื้นที่ดินให้ไม่มีสิ่งก่อสร้างหรือหลังคาคลุม เป็นพื้นที่โล่งเห็นท้องฟ้าแล้วก็ตาม แต่หากระดับความสูงของพื้นที่นั้นมีการก่อสร้างที่สูงเกิน 1.20 เมตร ก็จะไม่ถือเป็น ที่ว่างตามกฎหมายควบคุมอาคาร เช่น ทำทางเดินด้านข้างระหว่างตัวบ้านกับรั้วบ้าน มีระดับพื้นทางเดินสูง 1.50 เมตร แม้ทางเดินนั้นจะไม่มีหลังคาคลุม ก็ไม่ถือเป็น ที่ว่างตามกฎหมายควบคุมอาคารแต่อย่างใด
  กฎหมายควบคุมอาคารยังได้กำหนดสัดส่วนพื้นที่และระยะของ ที่ว่างไว้ด้วยว่า การก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารทุกอาคารนั้น จะต้องเว้นเป็น ที่ว่างมากน้อยเพียงใด มีระยะเท่าใด โดยกำหนดสัดส่วนพื้นที่และระยะของที่ว่าง แตกต่างกันไปตามประเภทของอาคาร ตามขนาดและตำแหน่งของอาคารที่ขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลง มีข้อกำหนดด้วยกันหลายข้อ แต่เพื่อให้ง่ายสำหรับเจ้าของบ้าน ท่านอาจจำเพียง 3 ประเด็นเบื้องต้นก่อนเท่านั้นว่า อาคารทุกหลังที่จะก่อสร้างหรือดัดแปลงถูกกำหนดให้ต้องเว้นที่ดินให้มีที่ว่าง ดังนี้

  ประเด็นแรก : ที่ดินแปลงที่ขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลง ต้องเว้นที่ดินเป็น ที่ว่างให้มีปริมาณ (พื้นที่) ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด จะเรียกเป็น พื้นที่ที่ว่างขั้นต่ำที่ต้องมีก็ได้ โดยกรณีก่อสร้างอาคารอยู่อาศัย เช่น บ้าน, คอนโดมีเนียม (อาคารชุด), อพาร์ตเม้นท์ (อาคารอยู่อาศัยรวม) จะต้องมีปริมาณที่ว่างขั้นต่ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ชั้นหนึ่งชั้นใดที่มากที่สุดของอาคาร แต่หากเป็นที่ดินในกรุงเทพฯ สัดส่วนร้อยละ 30 ของที่ว่างนี้จะคิดเทียบกับพื้นที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้าง
  ตัวอย่างเช่น หากมีที่ดิน 50 ตารางวา หรือเท่ากับ 200 ตารางเมตร แล้วสร้างบ้าน 2 ชั้น พื้นที่ชั้นล่างเท่ากับ 100 ตารางเมตร พื้นที่ชั้นบนเท่ากับ 80 ตารางเมตร กรณีที่สร้างบ้านหลังนี้ที่ต่างจังหวัด จะต้องเว้นให้มีที่ว่างเท่ากับ 30 ตารางเมตร (100 x 30% ของพื้นที่ชั้นที่มากที่สุด ซึ่งคือชั้นล่าง) แต่หากสร้างบ้านหลังนี้ในกรุงเทพฯ จะต้องเว้นให้มีที่ว่างเท่ากับ 60 ตารางเมตร(200 x 30% ของขนาดที่ดิน) สำหรับอาคารอื่นที่ไม่ใช่อาคารอยู่อาศัย สัดส่วนของปริมาณที่ว่างขั้นต่ำจะถูกกำหนดให้ต้องมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เท่านั้น

 ประเด็นที่สอง : ตัวบ้านที่จะก่อสร้างหรือดัดแปลง ในแต่ละด้าน (ด้านหน้า, ด้านหลัง, ด้านข้างทั้งซ้ายและขวา) จะถูกกำหนดให้ต้องมีระยะของ ที่ว่างแต่ละด้านแตกต่างกันไปตามประเภทอาคาร ตามตำแหน่งที่ตั้งอาคาร เช่น บ้านประเภทห้องแถว ตึกแถว จะแตกต่างจากบ้านแฝด และแตกต่างไปจากบ้านเดี่ยว และบางกรณีระยะของ ที่ว่างจะถูกกำหนดให้มีทุกด้าน โดยกำหนดเป็น ที่ว่างโดยรอบอาคารนอกจากนั้นหากอาคารไม่ได้อยู่ริมถนนสาธารณะและมีความสูง (จำนวนชั้น) แตกต่างกัน ก็อาจจะมีข้อกำหนดให้ต้องเว้น ที่ว่างด้านหน้าให้มีระยะแตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน  ตัวอย่างเช่น บ้านหรืออาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 300 ตารางเมตรขึ้นไป หากมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร ต้องเว้นให้มีที่ว่างโดยรอบอาคารไม่น้อยกว่า 1 เมตร  แต่หากมีความสูงเกิน 15 เมตร ต้องเว้นให้มีที่ว่างโดยรอบอาคารไม่น้อยกว่า 2 เมตร สำหรับบ้านพักอาศัยมีพื้นที่ไม่เกิน 300 ตารางเมตร ให้ผนังด้านที่ไม่มีช่องเปิดสามารถสร้างห่างเขตที่ดินได้น้อยกว่า 1 เมตร ถ้าห่างเขตที่ดินน้อยกว่า 50 ซม. ต้องได้รับหนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดินด้านนั้นด้วย

จากตัวอย่างข้างต้น ท่านเจ้าของบ้านพึงทราบไว้ว่า การคิดปริมาณที่ว่างขั้นต่ำและระยะของที่ว่างแต่ละด้านของบ้านในกรุงเทพฯ จะมีความแตกต่างและเพิ่มเติมไปจากบ้านที่ก่อสร้างในต่างจังหวัด แม้ว่าบ้านที่สร้างจะเหมือนกันและสร้างบนที่ดินเท่าๆ กันก็ตาม
 ประเด็นที่สาม : นอกเหนือจากกฎหมายควบคุมอาคารแล้ว เรื่อง ที่ว่างยังมีกำหนดไว้ในกฎหมายอื่นที่ต้องปฏิบัติตามด้วย เช่น กฎหมายผังเมือง โดยเฉพาะบ้านที่สร้างในเขตกรุงเทพฯ ต้องดูข้อกำหนดเรื่องที่ว่างในกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน และมีการคำนวณพื้นที่ต่างไปจากกฎหมายควบคุมอาคาร
  ท่านเจ้าของบ้านพึงระลึกว่า การที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมี ที่ว่างก็เพื่อให้บ้านหรืออาคารแต่ละหลังที่ก่อสร้างนั้น มีสภาวะแวดล้อมที่ดี มีความปลอดภัยทั้งเรื่องการก่อสร้าง หรืออัคคีภัย และช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นระหว่างบ้านต่างเจ้าของที่อยู่ติดกัน เรื่องที่ว่างยังมีข้อปลีกย่อยอีกมากพอควร และเกี่ยวพันไปถึงเรื่องระยะร่น-ระยะห่างของอาคาร จะนำมาเขียนให้ทราบในคราวต่อๆ ไป


                  คมกฤช ชูเกียรติมั่น
ผู้อำนวยการสถาบันสถาปนิกสยาม สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ 

กฎหมายอาคารที่ควรรู้ เมื่อจะก่อสร้างหรือดัดแปลงบ้านตอนที่1-2

ตอนที่ 1 : ก่อสร้างหรือดัดแปลงบ้านต้องขอยื่นอนุญาต
  ปัจจุบันการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร พื้นที่เกือบทั้งหมดจะอยู่ในบังคับของกฎหมายควบคุมอาคาร โดยถูกกำหนดให้พื้นที่นั้นเป็น เขตควบคุมอาคารนอกจากนั้นการก่อสร้างดัดแปลงอาคารบางประเภทแม้จะทำนอกเขตดังกล่าว แต่ก็ต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายควบคุมอาคารด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อควบคุมการก่อสร้างดัดแปลงอาคารเหล่านั้นให้มีความแข็งแรงปลอดภัย สำหรับเจ้าของอาคาร ผู้ใช้อาคาร และมีการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งมีหลายเรื่องหลายข้อและเกี่ยวข้องกับอาคารหลายๆ ประเภท แต่หากจะดูเฉพาะเรื่องบ้านพักอาศัย มีข้อกฎหมายสำคัญที่เจ้าของบ้านควรต้องรู้และปฏิบัติตาม ดังนี้
ก่อสร้างหรือดัดแปลงบ้านต้องขอยื่นอนุญาต

   เอกสารที่ต้องยื่นไปพร้อมคำขออนุญาต ได้แก่ เอกสารของเจ้าของที่ดิน ผู้ยื่นขออนุญาต ผู้ออกแบบ (สถาปนิกวิศวกร) รวมถึงเอกสารมอบอำนาจต่างๆ เอกสารสำคัญที่จะต้องมีแนบไปด้วยก็คือ เอกสารที่เราเรียกกันทั่วไปว่า แบบขออนุญาตคือแบบที่ผู้ออกแบบจัดทำขึ้นและแสดงรายละเอียดที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ผังบริเวณ (ผังแสดงตำแหน่งบ้านในที่ดิน ระยะห่างของบ้านถึงแนวเขตที่ดิน แสดงทางระบายน้ำทิศทางการไหลของน้ำ แสดงระดับ) แบบแปลนบ้าน รูปด้านรูปตัด รายการวัสดุที่ใช้ หรือ รายการคำนวณโครงสร้าง (บ้านทั่วไปที่สร้างด้วยวัสดุทนไฟ วัสดุถาวร ต้องมีรายการคำนวณโครงสร้าง) แบบที่สำคัญที่ต้องแสดงอีก คือ ต้องมีแบบและวิธีการเกี่ยวกับการติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัย แบบและจำนวนห้องน้ำห้องส้วม การจัดแสงสว่างและการระบายอากาศ แบบและรายการคำนวณระบบบำบัดน้ำเสียของบ้านที่ต้องได้มาตรฐาน ฯลฯ
ตอนที่ 2 : ซ่อมแซมบ้านถ้าไม่เข้าข่ายดัดแปลง ทำได้ทันทีไม่ต้องยื่นขออนุญาต
 ท่านเจ้าของบ้านลองนึกดูว่า หากเราแค่ต้องการทาสีบ้าน เปลี่ยนประตูใหม่แทนประตูที่ผุหรือเสียหาย ซ่อมเปลี่ยนท่อน้ำประปาที่แตกหรือรั่ว ปูพื้นห้องน้ำใหม่โดยมีการรื้อแผ่นกระเบื้องเดิมออก ฯลฯ แล้วต้องไปยื่นขออนุญาตและต้องรอให้ได้รับใบอนุญาตก่อนจึงสามารถลงมือทำได้ ก็น่าจะเกิดความยุ่งยากต่อทั้งเจ้าของบ้านและหน่วยงานที่ดูแล กฎหมายควบคุมอาคารจึงผ่อนผันให้การกระทำบางอย่างกับอาคาร สามารถลงมือทำได้โดยไม่จำเป็นต้องยื่นขออนุญาตแต่อย่างใด ถ้าสิ่งที่จะทำนั้นไม่ถือเป็นการ ดัดแปลงอาคารตามที่กฎหมายกำหนดไว้
 การกระทำที่ไม่ถือเป็นการ ดัดแปลงอาคารมีกำหนดอยู่ในกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อให้เข้าใจ ขอเขียนอธิบายเป็นความต้องการที่เจ้าของบ้านสามารถทำได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต ดังนี้
    1. หากต้องการเปลี่ยนโครงสร้างอาคาร (เช่น  เสา, คาน, ตง และพื้น) ที่ไม่ได้ทำด้วย คอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ และใช้วัสดุชนิดเดิม ขนาดเท่าเดิม จำนวนเท่าเดิม สามารถทำได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต เช่น การเปลี่ยนคานไม้ที่ผุ หรือ แอ่น โดยยังใช้เป็นคานไม้เช่นเดิม
  2. หากต้องการเปลี่ยนส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างอาคาร (เช่น เปลี่ยนผนัง ฝา ฝ้าเพดาน ประตู หน้าต่าง ฯลฯ) โดยใช้วัสดุของเดิม และสิ่งที่เปลี่ยนนั้นไม่หนักเพิ่มขึ้นมากกว่าของเดิมร้อยละสิบ สามารถทำได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต เช่น ผนังเดิมที่จะเปลี่ยนออกไปหนัก 100 กิโลกรัม ผนังใหม่ที่มาแทนและวัสดุเหมือนเดิม ต้องหนักไม่เกิน 110 กิโลกรัม
   3. หากต้องการปรับเปลี่ยน ต่อเติม รูปทรง ขอบเขต สัดส่วน ของส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างอาคาร แล้วไม่ได้ทำให้น้ำหนักตรงจุดนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าของเดิมร้อยละสิบ สามารถทำได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต เช่น การติดป้ายเล็กๆ ยื่นออกมาจากผนังอาคาร
  4. หากต้องการลดพื้นที่บ้าน หรือเพิ่มพื้นที่บ้าน (เช่น ต่อเติมระเบียงยื่นออกไป) รวมกันแล้วไม่เกิน 5 ตารางเมตร และตรงพื้นที่ที่ลดหรือเพิ่มนั้นไม่ได้ทำให้ต้องเพิ่มเสาหรือคาน สามารถทำได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต
  5. หากต้องการลดหรือเพิ่มพื้นที่หลังคาบ้าน รวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร โดยไม่มีการเพิ่มเสาหรือคาน สามารถทำได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต (เช่น ตัดหลังคาเว้าออกเล็กน้อยเพื่อหลบกิ่งของต้นไม้ที่โตจนยื่นมาชน)
 ทั้ง 5 ข้อนี้ กฎหมายได้ระบุเงื่อนไขไว้ว่า สิ่งที่ทำไปนั้นต้องไม่ผิดกฎหมายควบคุมอาคารในเรื่องอื่นๆ เช่น ต้องไม่เกินระยะร่นอาคารที่กฎหมายกำหนด ต้องไม่ทำให้ที่ว่างน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ต้องไม่มีเปิดช่องเปิดที่ผนังถ้าผนังนั้นห่างน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ฯลฯ  สังเกตหรือไม่ว่า กฎหมายจะเน้นไปในเรื่องความแข็งแรง ปลอดภัย การรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเป็นการระบุให้ใช้วัสดุของเดิม และต้องไม่เพิ่มน้ำหนักมากเกินร้อยละสิบ ไม่มีการลดหรือเพิ่ม เสา คานของอาคาร และต้องไม่เปลี่ยนโครงสร้างอาคารที่ทำด้วยคอนกรีต เหล็กรูปพรรณการที่เขียนว่า สามารถทำได้ไม่ต้องยื่นขออนุญาต ไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องนั้นจะลงมือทำได้ทันทีโดยไม่มีการตรวจสอบใดๆ ก่อน จึงขอแนะนำว่า เพื่อความปลอดภัยก็ควรปรึกษาผู้รู้ก่อนลงมือทำ โดยเฉพาะถ้าดูแล้วสิ่งที่จะทำนั้นเกี่ยวข้องกับโครงสร้าง หรือดูแล้วไม่แน่ใจเกรงว่าอาจจะมีอันตราย ให้ถือหลักปลอดภัยไว้ก่อนเป็นดีที่สุด
 (หมายเหตุ : ในกฎกระทรวงฉบับที่ 11 พ.ศ. 2528 ยังได้กำหนดว่าการกระทำที่ถือว่าเป็นการ รื้อถอนซึ่งต้องยื่นขออนุญาตก่อนลงมือทำไว้ด้วย หากท่านใดต้องการทราบก็สามารถดูรายละเอียดได้ในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว)
                                                       
                                                                      คมกฤช ชูเกียรติมั่น
                            ผู้อำนวยการสถาบันสถาปนิกสยาม สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์